“พิธีเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการมหาสารคาม เมืองปลอดภัยยาเสพติด” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567”
วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรอง ห้องประชุมพระบรมธาตุนาดูน ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการมหาสารคาม เมืองปลอดภัยยาเสพติด” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภากำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด อยู่ในนโยบายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน โดยจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้าต้องได้รับโทษตากระบวนการยุติธรรม นั้น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ “ยุทธการมหาสารคาม เมืองปลอดภัยยาเสพติด” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อลดระดับปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ให้ปรากฏเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม 2.เพื่อสร้างกระแสและความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ของหน่วยงานภาครัฐ 3.เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และ 4.เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน มีวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่างสงบสุข อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม ตลอดจนสิ่งอบายมุขต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ ทุกภาคส่วนและทุกระดับที่เกี่ยวข้องจะได้มีการบูรณาการการดำเนินงานกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ให้โอวาทนำกล่าวคำปฏิญาณไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และสาปแช่งผู้ค้ายาเสพติดและเครือข่ายฯ และเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการมหาสารคาม เมืองปลอดภัยยาเสพติด” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
สำหรับจังหวัดมหาสารคาม เป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงผ่านยาเสพติดจากพื้นที่จังหวัดชายแดน รวมถึงใช้เป็นที่พักและกระจายยาเสพติด ตลอดจนมีนักค้านอกพื้นที่เข้ามาเคลื่อนไหวในจังหวัด ทำให้ยังคงมีปัญหาการแพร่ระบาดในทุกอำเภอ ดังนั้น การจัดทำแผนปฏิบัติการ “ยุทธการมหาสารคาม เมืองปลอดภัยยาเสพติด” จึงถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งในการดำเนินการ ขอให้บูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นจริงจังตลอดทั้งปี โดยมาตรการป้องกัน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกลไก “คุ้มบ้าน” ในการเฝ้าระวัง คัดแยก ติดตามดูแล และช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน เมื่อพบผู้เสพ ให้บำบัดรักษาและฟื้นฟูให้เขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ส่วนผู้ค้าต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ประสานกับการป้องกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้ใช้แรงงาน ผู้เคยต้องโทษหรือเคยมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรการปราบปราม เน้นการจัดตั้งด่านตรวจบนเส้นทางสายหลัก/สายรอง เพื่อสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ผสานกับการจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ของฝ่ายปกครองในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน และการปราบปรามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด รวมถึงการขยายผลไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สินเครือข่ายคดียาเสพติด
สำหรับมาตรการบำบัดรักษา เน้นการคัดกรอง ส่งต่อ บำบัดรักษาในกระบวนการที่เหมาะสม รวมถึงติดตามช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติด ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและไม่ให้ใช้หรือหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก
ทั้งนี้ แรงงานจังหวัดมหาสารคาม (นางสาววิไลวรรณ เทียงดาห์) เข้าร่วมพิธีฯ ในครั้งนี้ด้วย