“ร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จังหวัดมหาสารคาม”
วันศุกร์ที่ 9 – วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมโรงแรมเดอะวัน อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเพิ่มศักยภาพการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จังหวัดมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการและการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล นำไปสู่การพัฒนาให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการที่ดีตามหลักการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 มีเจตนารมณ์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. การบริหารแบบบูรณาการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area – Based Approach) เพื่อกระจายการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ต่างๆ และ 2. เพื่อสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการที่ดี (Collaboration for Good Governance) ซึ่งประธานฯ ขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดที่กำหนดไว้ว่า “เกษตรกรรมยั่งยืน นำภูมิปัญญาสร้างคุณค่า พัฒนาการค้า การลงทุนสู่สังคมมีสุข ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี” ดังนี้
- ด้านการส่งเสริม การสร้างภูมิปัญญา สร้างคุณค่า เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เสือกก ซึ่งปัจจุบันยังมีต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นจำเป็นจะต้องทำแบบครบวงจร เช่น การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ซึ่งขณะนี้จังหวัดมหาสารคาม กำลังมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้กับพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเริ่มปรับตัว เพิ่มช่องทางด้วยการสร้าง Value Chain ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง นั่นก็คือการแปรรูป โดยเฉพาะจะต้องคิด เพื่อให้ความรู้ เช่น เพิ่มกลุ่มการตัดเย็บเสื้อผ้าให้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย
- ด้านการค้า การลงทุน ขอให้ภาคเอกชนใช้โอกาสในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้า จากโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม และโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองมหาสารคาม เป็นต้น
- ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงอุบัติภัยบนท้องถนน ซึ่งยังเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะขอให้มีการรณรงค์เรื่อง “การสวมหมวกนิรภัย” อย่างจริงจังและแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจังหวัดมหาสารคาม มีโครงการสมาร์ทซิตี้โซน เป็นพื้นที่นำร่องในการให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะกับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาที่เข้ามาเรียน กว่า 60,000 คน จึงได้ชื่อว่า “ตักสิลานคร”
- ด้านสังคมมีความสุข จำเป็นจะเร่งขับเคลื่อนเรื่องการขจัดความยากจนในทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ จำนวน 584 ครัวเรือน
- ด้านการสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ผลเป็นรูปธรรมจากการลดปัญหาจุดความร้อน (Hotspot) จากการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การทำฟางอัดก้อนในพื้นที่กว่า 6 หมื่นไร่ การทำเกษตรปลอดการเผา ซึ่งทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายตอซัง และการนำร่องให้นักเรียน นักศึกษา ปลูกต้นไม้คนละต้น หรือที่เรียกว่า “ต้นไม้ของนักเรียน” ซึ่งได้มีการปลูกต้นไม้แล้ว 177,779 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่าไม้ 3% ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี
ทั้งนี้ แรงงานจังหวัดมหาสารคาม (นางสาววิไลวรรณ เทียงดาห์) ร่วมโครงการฯ ดังกล่าว